การปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5

การปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5

             การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการปกครองในด้านระเบียบการบริหารและวิธีปฏิบัติการต่าง ๆ ครั้งแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งเรียกกันว่า การปฏิรูปการปกครองสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 อันมีมูลเหตุเนื่องมาจากอิทธิพลการปกครองของชาติตะวันตก และประสบการณ์ของพระองค์ในต่างประเทศ ทำให้เกิดแนวคิดที่จะนำเอาสิ่งที่ดีมาปรับปรุงการปกครองประเทศตามแนวที่ชาติตะวันตกยอมรับ การวางแนวคิดให้เกิดรากฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตย พระองค์จึงตัดสินพระทัยปฏิรูปการปกครองเพื่อการนี้และเพื่อการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ ทั้งภายในและภายนอก หลายด้าน อาทิ เช่น ปัญหาเกี่ยวกับเอกภาพของประเทศ ความล้าหลังทางสังคมและเศรษฐกิจ ฯลฯ สาระสำคัญของการปรับปรุงได้แก่การยกเลิกการบริหารราชการแบบจตุสดมภ์เสีย แล้วจัดระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินใหม่ โดยแยกออกเป็นส่วนกลางและส่วนภูมิภาค นอกจากนี้ยังได้มีการริเริ่มส่วนท้องถิ่นในรูปของการสุขาภิบาล เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ราษฎรมีส่วนรับผิดชอบหรือมีส่วนร่วมในการปกครองแผ่นดิน ส่วนอำนาจในการบริหาร เป็นไปในลักษณะกระจายอำนาจ พระองค์ทรงปรับปรุงการศึกษา และสิทธิของประชาชนให้เป็นเครื่องส่งเสริมการปฏิรูปการปกครอง ด้านสิทธิของประชาชนนั้นเป็นการปรับปรุงอันเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของชาติไทย ได้ทำการเลิกทาส การเลิกทาสดังกล่าวเป็นเครื่องแสดงถึงความเป็นนักประชาธิปไตยของพระองค์ และเรื่องสิทธิของประชาชนเป็นหลักการสำคัญยิ่งของการปกครองระบอบประชาธิปไตย
                    การปฏิรูปการปกครองที่สำคัญ ได้แก่
1.การจัดตั้งสภาที่ปรึกษา  เพื่อให้ขุนนาง  ข้าราชการ  ได้คุ้นเคยกับการปกครองในรูปแบบใหม่  ทำให้ขุนนาง  ข้าราชการได้รู้จักการแสดงความคิดเห็น  รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ  แต่งตั้งให้มี 2 สภา คือ
      1)สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน  ทำหน้าที่ประชุมปรึกษาในเรื่องราชการแผ่นดิน  การออกกฎหมายต่างๆ
      2)สภาที่ปรึกษาส่วนพระองค์  ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาส่วนพระองค์เกี่ยวกับราชการต่างๆ
2.การปฏิรูปการปกครองส่วนกลาง  ใน พ.ศ.2430  พระเจ้าน้องยาเธอ  กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการเสด็จกลับจากดูงานการปกครองในประเทศสหรัฐอเมริกา  ยุโรป  และญี่ปุ่น  ได้ทรงทำบันทึกเสนอต่อรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงพิจารณาที่จะให้มีการปฏิรูปการปกครอง  จึงได้ทรงจัดตั้งกรมขึ้นใหม่  6  กรม  เมื่อรวมกับที่มีอยู่แล้ว  6  กรม  เป็น 12 กรม  คือ
      1)กรมมหาดไทย   2)กรมพระกลาโหม   3)กรมท่า   4)กรมวัง   5)กรมเมือง   6)กรมนา   7)กรมพระคลัง   8)กรมยุติธรรม      
      9)กรมยุทธนาธิการ   10)กรมธรรมการ   11)กรมโยธาธิการ   12)กรมมุรธาธิการ
             ใน พ.ศ.2435  กรมเหล่านี้ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นกระทรวง  และโปรดฯ ให้ยกเลิกการปกครองระบบจตุสดมภ์  และในพ.ศ.2437  ได้มีพระราชบัญญัติแยกอำนาจหน้าที่ของกระทรวงกลาโหมและมหาดไทยออกจากกัน
3.การปฏิรูปการปกครองส่วนภูมิภาค  มีการปกครองตามระบบเทศาภิบาล  ซึ่งได้ระบุไว้ใน  ประกาศจัดปันหน้าที่ระหว่างกระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทย ร.ศ.113  โดยรวมหัวเมืองหลายเมืองเข้าเป็น                       1 มณฑล มีข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้บังคับบัญชาการมณฑลละ 1 คน  ซึ่งต้องขึ้นตรงต่อกระทรวงมหาดไทย   การเปลี่ยนระบบการปกครองหัวเมืองเป็นระบบเทศาภิบาลไม่ได้ดำเนินการเป็นไปอย่างราบรื่น  เพราะว่ารัฐบาลประสบปัญหาหลายอย่าง  เช่น  การขาดบุคลากรในการปฏิบัติงาน  รัฐบาลกลางขาดงบประมาณทำให้รัฐบาลต้องเร่งรัดภาษี
4.การปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่น  ซึ่งต้องการให้ราษฎรมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ     ได้มีการประกาศพระราชบัญญัติจัดการสุขาภิบาล   สุขาภิบาลหัวเมืองแห่งแรกคือสุขาภิบาลตำบลท่าฉลอม  จังหวัดสมุครสาคร  ตั้งขึ้นใน พ.ศ.2448